โครงการกิจกรรมเพื่อสังคม


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556 เวลา 10.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ” ด้วยทีมแพทย์อาสาสมัครจำนวนมาก ลงบันทึกสถิติใน “กินเนสบุ๊ค” กับแพทย์อาสาเฉพาะทางตาที่ให้บริการมากที่สุดครั้งแรกในโลกให้บริการดูแลประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง จ.พระนครศรีอยุธยา จัดโดยแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมภิบาล สำหรับผู้บริหารทางการแพทย์รุ่นที่ 1 สถาบันพระปกเกล้า (ปธพ.1) ร่วมกับ แพทยสภา สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ด้วยทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยในทุกข์สุข และปัญหาสุขภาพของราษฎรมาโดยตลอด ซึ่งโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติจะให้บริการแก่ประชาชนอย่างครบวงจรจัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติขึ้น เพื่อเป็นการบริการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรอง การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาระดับปฐมภูมิจนถึงระดับตติยภูมิ โดยมีทีมแพทย์อาสาสมัครจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยมีการจัดการแบ่งกลุ่มการให้บริการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.การตรวจคัดกรอง 2.การรักษาพยาบาล และ 3.การส่งเสริมสุขภาพ ด้วยทีมแพทย์อาสาเฉพาะทางจำนวน 20 คลินิก

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ยังถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับระบบสาธารณสุขไทย ในการบริการทางด้านสุขภาพกับประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหลายหน่วยงานในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ทั้งนี้ ทางนักศึกษาได้ตั้งใจดำเนินการขอบันทึก “สถิติโลกกินเนสบุ๊ค” (Guinness Book World Record) เป็นการเทิดพระนามและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ทั้ง 2 พระองค์ โดยแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา แต่เบื้องต้นได้รับอนุมัติในการให้บริการรักษาโรคทางจักษุวิทยา ดังนี้

"The most eye tests performed in one hour were achieved to celebrate His Majesty the King's 85th and Her Majesty the Queen's 80th Birthday Anniversaries by The Medical Council of Thailand and King Prajadhipok's Institute, in Ayuddhaya, Thailand, on 17 March 2013"”

ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของแพทย์อาสาทุกท่านที่เข้ามาร่วมงานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแพทย์เฉพาะทางตาที่ออกบริการดูแลรักษาประชาชนจำนวนมากที่สุดครั้งแรกในโลก และทำการบันทึกสถิติลงใน “สถิติโลกกินเนสบุ๊ค” (Guinness Book World Record) ให้บริการตรวจตา 450 คน ใน 1 ชั่วโมง พร้อมด้วยทีมแพทย์อาสาสมัครอีกกว่า 300 ราย ซึ่งการออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ นับเป็นครั้งแรกที่โครงการฯ จะลงพื้นที่ให้บริการแก่ประชาชนในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง โดยจะมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับบริการ 2,672 คน จำนวนครั้งที่ให้บริการ 3,207

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ 2 ณ โรงพยาบาลหัวหิน และโรงเรียนพณิชยการหัวหิน จัดขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์รุ่นที่ 2 แพทยสภา ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้ากระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยการออกหน่วยตรวจรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปจนถึงโรคซับซ้อนขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพชุมชน โดยบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขาร่วมกับนักศึกษาในหลักสูตรฯ บุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. มีบริการทั้งสิ้น 18 คลินิกแพทย์เฉพาะทางโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร กว่า 500 คน จากหลายสถานพยาบาลชั้นนำ

เปิดให้บริการตรวจรักษา ผ่าตัด รับยา ครบวงจร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้ง ตรวจรักษาโรคเด็ก โรคผู้สูงอายุ โรคปอด โรคหัวใจ ไทรอยด์ ผ่าตัดโรคหูน้ำหนวก ส่องกล้องกระเพาะอาหาร ขยายเส้นเลือดหัวใจ ผ่าตัดสมอง ตรวจอัลตราซาวน์ แมมโมแกรม ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอ็ดโค่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต แพทย์แผนไทย ฝังเข็ม บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เป็นต้นมีผู้เข้ารับบริการคือประชาชนในอำเภอหัวหิน ในพื้นที่โดยรอบและใกล้เคียง ประชาชนในจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรีราชบุรี และใกล้เคียง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกภาคส่วน รวมผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการตรวจรักษาในโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 2 เป็นจำนวนทั้งหมด 4,773 ราย

เวลา 17.00-18.00 น. มีกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ “สวดพระปริตร” อธิษฐานจิตปฏิบัติบูชา นำโดย พระอาจารย์อารยวังโส พระวิปัสสนาจารย์ สายปฏิปทาหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นโอกาสมงคลของชาวไทยทุกคน

 

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 3 (ปธพ.3)
ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 (ปธพ.3) สถาบันพระปกเกล้าและแพทยสภา รวมทีมแพทย์อาสาเฉพาะทางจำนวน 18 คลินิก ให้บริการตรวจรักษา ดูแลสุขภาพประชาชนกว่า 6,000 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดจนถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม์ 60 พรรษา

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 3 โดยได้จัดกิจกรรมตรวจรักษาโรคเฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร กว่า 500 คน จากหลายสังกัดโรงพยาบาล ตลอดจนราชวิทยาลัยแพทย์ มาตรวจรักษาให้แก่ประชาชน ในพื้นที่โดยรอบจังหวัดกาญจนบุรี

โดยได้จัดกิจกรรมการตรวจรักษาโรค 18 คลินิกแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่

  1. คลินิกหู คอ จมูก
  2. คลินิกสูติ-นรีเวช และ ตรวจมวลกระดูก
  3. คลินิกไต
  4. คลินิกทันตกรรม
  5. คลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
  6. คลินิกจักษุ
  7. คลินิกระบบประสาท
  8. คลินิกระบบทางเดินอาหาร
  9. คลินิกกระดูกและข้อ
  10. คลินิกสุขภาพเด็กและเยาวชน
  11. คลินิกสุขภาพจิต
  12. คลินิกศัลยศาสตร์สมอง
  13. คลินิกมะเร็งเต้านม
  14. คลินิกโรคหัวใจ
  15. คลินิกตรวจสมรรถภาพทางปอด
  16. คลินิกผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่
  17. คลินิกกายอุปกรณ์
  18. คลินิกตรวจสมรรถภาพทางกาย และโรคทั่วไป

โดยจะมีประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาทั้งสิ้น 6,090 ราย และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 13,690 คน ซึ่งโครงการฯ ดำเนินงานสำเร็จลุล่วง สมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ

 

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 4 (ปธพ.4)
ณ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 ณ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 4 โดยได้จัดกิจกรรมตรวจรักษาโรคเฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร กว่า 500 คน จากหลายสังกัดโรงพยาบาล ตลอดจนราชวิทยาลัยแพทย์ มาตรวจรักษาให้แก่ประชาชน ในพื้นที่โดยรอบจังหวัดกาญจนบุรี

โดยได้จัดกิจกรรมการตรวจรักษาโรค 20 คลินิกแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ 1.คลินิกสูตินรีเวชกรรม-หญิงวัยทอง, 2.คลินิกศัลยกรรมทั่วไป และคลินิกเต้านม, 3.คลินิกทางเดินปัสสาวะ, 4.คลินิกโรคไต, 5.คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือด, 6.คลินิกออร์โธปิดิกส์และกระดูกพรุน, 7.คลินิกจักษุ, 8.คลินิกหู คอ จมูก, 9.คลินิกฝังเข็ม, 10.คลินิกแพทย์แผนไทย, 11.คลินิกกายอุปกรณ์, 12.คลินิกโรคผิวหนัง, 13.คลินิกกุมารเวชกรรม, 14.คลินิกโรคทางเดินอาหาร ตับ ถุงน้ำดี, 15.คลินิกสุขภาพจิตและจิตเวช, 16.คลินิกทันตกรรม, 17.คลินิกชายวัยทอง, 18.คลินิกโรคทั่วไป, 19.คลินิกตรวจสุขภาพและทดสอบสมรรถภาพร่างกาย, 20.คลินิกอายุรกรรม และอีก 3 หน่วยงานที่ให้คำแนะนำปรึกษาคือ 1.คลินิกกฏมาย, 2.คลินิกเลิกบุหรี่ , 3.บริจาคโลหิต

โดยจะมีประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาทั้งสิ้น 10,321 ราย ซึ่งโครงการฯ ดำเนินงานสำเร็จลุล่วง สมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ

โดย มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๕ (ปธพ.๕) วันที่ 13-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า ชมรมนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ (ปธพ) โดยนักศึกษา ปธพ.5 องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกันจัด โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์" โดยนำแพทย์เฉพาะทางกว่า 200 คน จากคณะแพทยศาสตร์ 21 แห่ง ราชวิทยาลัย/วิทยาลัยแพทย์ 15 แห่ง แพทย์จากภาครัฐ แพทย์จาก 4 เหล่าทัพ แพทย์จากภาคเอกชนพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ท้องถิ่นขาดแคลน และ บุคลากรอื่นๆ กว่า 1,500 คน ให้บริการตรวจ รักษา-ผ่าตัด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เปิดคลินิกแพทย์เฉพาะทาง 20 สาขา ประกอบด้วย 1.คลินิกศัลยกรรม 2.จักษุคลินิก 3.คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือด 4.คลินิกทันตกรรม 5.คลินิกการสื่อความหมายและแก้ไขการได้ยิน 6.คลินิกผ่าตัดโรคหู 7.คลินิกสูตินรีเวชและหญิงวัยทอง 8.คลินิกส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับแข็ง 9.คลินิกโรคผิวหนัง 10.คลินิกอายุรกรรมเบาหวานและโรคไต 11.คลินิกเทคนิคการแพทย์ 12.คลินิกตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคทั่วไป 13.คลินิกรับบริจาคโลหิต 14.คลินิกพัฒนาการเด็ก 15.คลินิกออร์โธปิดิกส์ 16.คลินิกกายอุปกรณ์ 17.คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู 18.คลินิกแพทย์แผนไทยและแผนจีน 19.คลินิกสุขภาพจิตและเลิกบุหรี่ 20.คลินิกอายุรกรรมประสาท และหน่วยให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยทุกรายในจังหวัดปราจีนบุรีและใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2560 ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางครั้งนี้ ได้เลือกมาจัดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ถือกำเนิดจากความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีและผืนแผ่นดินไทยของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วย โดยผสมผสานองค์ความรู้ทั้งการแพทย์แผนตะวันตกและการแพทย์แผนไทย เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเทคนิคแพทย์ตะวันตกผสมผสานการนวดไทยและใช้สมุนไพร จะช่วยยกระดับการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วยและยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพ และการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไทย

โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภานายกแพทยสภา นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาสถาบันพระปกเกล้า และคณะ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเกินกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คนถึง 4,510 คน โดยจะมีประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาทั้งสิ้น 14,510 ราย ซึ่งโครงการฯ ดำเนินงานสำเร็จลุล่วง สมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ และถือได้ว่าเป็นการมอบโอกาสในการรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย

16 ตุลาคม 2559 – 29 มกราคม 2560 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และ วันที่ ๒๑ – ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ พระเมรุมาศจำลอง ถนนราชดำเนินกลาง (บริเวณกองสลาก)

 

กำเนิดโครงการแพทย์อาสาร่วมใจ ถวายเป็นพระราชกุศลฯ

มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ โดยท่านประธาน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ร่วมกับแพทยสภา และนักศึกษาหลักสูตรฯ ปธพ.รุ่นที่ 1-5 ได้มีความเห็นตรงกันว่า ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดและมีความประสงค์อยากทำความดีถวายในหลวง ในระหว่างที่ทุกคนต่างเศร้าโศกเสียใจจึงร่วมกันจัดตั้งโครงการแพทย์อาสาร่วมใจถวายเป็นพระราชกุศลฯ ขึ้นในคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2559 มีการประชุมร่วมกัน และเปิดดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทันที ในวันที่ 16 ตุลาคม 2559 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยได้รับความร่วมมือจาก กทม. กระทรวงสาธารณสุข และกรมแพทย์ทหารบก โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่ ตั้งแต่ยังไม่มีเต็นท์คลุมกันแดด เพื่อช่วยประชาชน จนถึง ทาง กรุงเทพมหานครฯ ได้มอบหมายพื้นที่ให้ดูแลจัดการ บริเวณตรงข้ามวัดพระศรีมหาธาตุในท้องสนามหลวง เป็น หน่วยงานแรกภายใต้เต็นท์ขนาดเล็ก 3 หลัง มีแพทย์ออกตรวจ จำนวน 4-6 ท่าน และได้รับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัช รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ได้รับการสนับสนุนเภสัชกรจากหน่วยเภสัชกรอาสา, พอ.สว., รพ.ศิริราช, รพ.รามาฯ และ รพ.จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนโปรแกรมระบบการบริหารจัดการข้อมูลจาก รพ.ศิริราช ได้รับการสนับสนุนบริหารจัดการเต็นท์ จาก บ.ปตท. และ บ.ทีวีไดเร็ค ร่วมกับ แพทยสภา ได้รับการสนับสนุนอาหารและเครื่องดื่มจาก บ.แบล็คแคนยอน, นศ.ปธพ.1-5 และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งในช่วงแรกมีการรักษาคนไข้ต่อวัน 300 ถึง 500 คน

คลินิกแพทย์อาสา

วันที่ 22 ตุลาคม 2559 เกิดกิจกรรมขนาดใหญ่คือการร้องเพลงเต็มพื้นที่ท้องสนามหลวง มีคนมากกว่า 200,000 คนและมีผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ มากกว่า 200 ราย ทำให้เต็นท์อาสาขยายพื้นที่เป็น 2 เท่า เพื่อรองรับผู้ป่วย ให้นอนพักได้ และขยายให้มีหมออาสามาให้บริการ 12 -20 คน ต่อวัน ซึ่งดูแลคนไข้ตั้งแต่ 200 - 600 ราย ระบบเป็นไปได้ด้วยดี มีการขอคำแนะนำจากแพทย์ที่มีมาทำงานในระบบทุกวัน มีการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเท่ากับโรงพยาบาลสนาม และมีการเพิ่มบริการวัดความดัน ให้กับประชาชนเพื่อสืบค้นโรคความดันสูง เพื่อนำมารักษา ทุกวัน วันละ สองร้อยคนขึ้นไป

28 ตุลาคม 2559 พายุเข้าสนามหลวงทำให้เต็นท์แพทย์อาสา จำนวน 6 เต็นท์ ที่ประกอบกัน มีฝนตก น้ำรั่ว เข้าอุปกรณ์การแพทย์ และเตียงผู้ป่วย จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จึงได้รื้อเต็นท์ และเปลี่ยนเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ 8 x 24 เมตร และจัดพื้นที่รองรับประชาชน ในระบบโรงพยาบาลสนาม พร้อมติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อโรค เพื่อรองรับคนไข้ได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน

1 พฤศจิกายน 2559 มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยท่านเลขาธิการ นพ.ยุทธ โพธารามิก ได้ส่งทีมแพทย์อาสาเข้าร่วมกิจกรรมทุกวันทำการ โดยมาจาก รพ.ทั่วประเทศ ร่วมกับแพทย์อาสาจาก สมาคมโรงพยาบาลเอกชน รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬา รพ.ทหาร รพ.ตำรวจ และอีกหลายสังกัด ทำให้ปริมาณบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานในเต็นท์แพทย์อาสา มีจำนวน 50 - 100 คนทุกวัน

การดำเนินงานของเต็นท์แพทย์อาสาเปิดทำการทุกวัน ยกเว้น วันที่ปิดสนามหลวงเพื่อทำพิธีครบ 50 วัน (1-2 ธ.ค. 59) และครบ 100 วัน (20-21 ม.ค. 60) โดยแพทย์อาสาได้กำหนดจะออกหน่วยจนถึงวันที่ 29 ม.ค. 60 ครบ 109 วัน และได้จัดทำต้นไม้แห่งความดีของ ตามแนวคิดของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนในปลายรัชกาลที่ 9 ต่อไป จึงได้ทำพิธีปิดเต็นท์แพทย์อาสาในคืนดังกล่าว แล้วคืนพื้นที่ให้กับทางราชการเพื่อสร้างพระเมรุมาศต่อไป

26 ตุลาตม 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แพทยสภา, มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, นักศึกษา ปธพ.1-6 ได้เปิดโครงการแพทย์อาสาร่วมใจถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศจำลอง ถนนราชดำเนินกลาง (บริเวณกองสลาก) ขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ วันที่ ๒๑ – ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในครั้งนี้เกิดจากแพทย์ไทย ทั้งภาครัฐใน 5 กระทรวง ทั่วประเทศ และภาคเอกชน แล้วยังได้ข้อสรุปเป็นเต็นท์โรงพยาบาลสนามต้นแบบของแพทย์อาสาที่จะเผยแพร่ให้กับแพทย์ทั่วประเทศสามารถนำไปใช้ในยามเกิดวิกฤตได้ทันที โดยทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, แพทยสภา และ นศ.ปธพ.ทั้ง 6 รุ่นที่ทำให้เกิดโครงการการกุศลขนาดใหญ่ จนครบ 118 วัน โดยสมบูรณ์ เพื่อจารึกเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของวงการแพทย์ไทยต่อไป ในอนาคต สรุปยอดผู้มารับบริการ 44,711 คน และแพทย์ 2,256 คน, พยาบาล 2,836 คน เภสัชกร 2,423 คน, จิตอาสา 2,342 คน รวมจิตอาสาทั้งสิ้น 9,857 คน

โดย มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 6 (ปธพ.6) ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุขและนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์รุ่นที่ ๖ (ปธพ.๖)และภาคีเครือข่าย ยกทีม แพทย์เฉพาะทางอาสา จัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒ ร่วมมือ ๓ โรงพยาบาล รพ.อานันทมหิดล รพ.พระนารายณ์มหาราช รพ.มะเร็งลพบุรี โดยนำแพทย์เฉพาะทางกว่า 200 คน จากคณะแพทยศาสตร์ 21 แห่ง ราชวิทยาลัย/วิทยาลัยแพทย์ 15 แห่ง แพทย์จากภาครัฐ แพทย์จาก 4 เหล่าทัพ แพทย์จากภาคเอกชนพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ท้องถิ่นขาดแคลน และ บุคลากรอื่นๆ กว่า 1,500 คน ให้บริการตรวจ รักษา-ผ่าตัดโรคยากซับซ้อน ต่อผู้ป่วยที่มีคิวรอยาวนาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทั้ง 20 คลินิกเฉพาะทาง ประกอบด้วย 1.คลินิกศัลยกรรม (Surgical endoscopy) การส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร และการผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง 2.คลินิกมะเร็งเต้านม (Mammogram) การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง ดิจิตอล แมมโมแกรม และวินิจฉัยความผิดปกติของเต้านมในสตรี 3.คลินิกจักษุ ตรวจคัดกรองและผ่าตัดต้อกระจก 4.คลินิกหัวใจและหลอดเลือด ให้บริการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ คือ เครื่องวิ่งสายพานและการทำเอคโค่หัวใจและให้การตรวจรักษาด้วยการฉีดสีสวนหัวใจและใส่ขดลวดเพื่อรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ 5.คลินิกระบบประสาท (ป้องกันStroke) คัดกรองภาวะหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง 6.คลินิกกายอุปกรณ์ ขาเทียม รถเข็น ให้บริการผลิตและซ่อมแซมแขน-ขาเทียม บริการอุปกรณ์ช่วยการเดินสำหรับคนพิการ 7.คลินิกศูนย์ผู้พิการเคลื่อนที่ ตรวจประเมินความพิการทางการเคลื่อนไหว และออกเอกสารรับรองความพิการ 8.คลินิกการสอน CPR การสร้างความพร้อมการกู้ชีพ CPR ให้ชาวลพบุรี โดย ทีมกู้ชีพ พร้อม หุ่นสอน CPR 100 ตัว 9.คลินิกสูติ-นรีเวช ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจวินิจฉัยสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ตรวจก้อนในอุ้งเชิงกรานสตรีด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง และตรวจโรคทางสูตินรีเวชกรรมทั่วไป 10.คลินิกพัฒนาการเด็ก ตรวจรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการที่ซับซ้อน ให้คำแนะนำ และจัดอบรมบุคลากรในพื้นที่ 11.คลินิกเด็กอ้วน ตรวจประเมิน ดูแลรักษาเบื้องต้นและให้คำแนะนำเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ พบกับฐานกิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อการปรับพฤติกรรมที่ได้ผล 12.คลินิกข้อเข่าเสื่อมและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการฉีดยาเข้าข้อเข่าและโรคทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วยเครื่องมือไฮเทคโนโลยี 13.คลินิกทันตกรรม ให้คำปรึกษาโรคทางช่องปาก,ครอบฟัน ด้วยนวัตกรรมล่าสุด, ผ่าฟันคุด,การขูดหินปูน ถอนฟัน และอุดฟัน 14.คลินิกหู คอ จมูก ให้การตรวจ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านหูคอจมูก บริการตรวจการได้ยินและจัดหาเครื่องช่วยฟังให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการได้ยิน ให้การผ่าตัดปะแก้วหูในผู้ป่วยเยื่อแก้วหูทะลุ และให้บริการฝึกพูดในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการพูด 15.คลินิกผิวหนัง ปรึกษาปัญหาโรคผิวหนัง การดูแลสุขภาพผิวพรรณ 16.คลินิกตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคทั่วไป ตรวจคัดกรองโรคกลุ่มเมตาบอลิกซินโดรม โรคอ้วน, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจ, โรคไต, โรคตับ เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด รวมทั้งวัณโรคปอด ในกลุ่มผู้สูงอายุ และพระสงฆ์ ในเขต จ.ลพบุรี 17.คลินิกเทคนิคการแพทย์ ให้บริการตรวจทางห้องปฎิบัติการ สำหรับคัดกรองโรคภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) , ผู้ป่วยเบาหวาน (HbA1C) , มะเร็งลำไส้ใหญ่ (FIT Test) ,โรคจากเชื้อซิฟิลิส และตรวจทางพยาธิคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีพิเศษ Liquid-based Pap test 18.คลินิกรับบริจาคโลหิต รับบริจาคโลหิต จากผู้มีจิตศรัทธา 19.คลินิกรับปรึกษาด้านกฎหมาย ให้บริการ คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย ตรวจสอบสิทธิการรักษา แจกหนังสือความรู้ทางกฎหมาย 20.คลินิกแพทย์แผนไทยและฝังเข็ม รักษาด้วยสมุนไพร ศาสตร์แพทย์แผนไทย และ ฝังเข็มดูแลโรคตามศาสตร์แพทย์แผนจีน 21.คลินิกตรวจสุขภาพทั่วไปคัดกรองเบาหวาน ตรวจและวินิจฉัยโรคเบาหวานโดยใช้ชุดตรวจน้ำตาลและฮีโมโกลบินเอวันซี(น้ำตาลสะสม)จากเลือดปลายนิ้วและรับคำปรึกษาจากแพทย์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรกว่า 500 คนจากหลายโรงพยาบาล อาทิ รพ.ศิริราช, รพ.จุฬาฯ, รพ.รามาธิบดี, รพ.ราชวิถี, รพ.พระมงกุฎเกล้า, รพ.ภูมิพลฯ, สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รพ.เอกชนชั้นนำ ฯลฯ ตลอดจน ราชวิทยาลัยแพทย์ และ แพทยสภา ระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล , โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช และ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี จังหวัดลพบุรี

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางฯ ครั้งนี้ ได้เลือกมาจัดที่จังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลางตอนบน ที่มี ประชากร 7 แสนคน มีพื้นที่ 6,586.67 ตารางกิโลเมตร มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทั้งทหารบกและทหารอากาศหลายหน่วย เป็นศูนย์กลางทางด้านการทหาร กองกำลังทางการรบ และในปัจจุบันเป็น "เมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว ศูนย์การศึกษาของภาคกลางตอนบน และยังเป็นเมืองทหารอีกด้วย" ลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีลิงอาศัยอยู่มาก เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงวัยอายุยืนจำนวนมาก มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนน้อย ทำให้ระบบรักษาพยาบาลโรคยากซับซ้อนยังไม่เพียงพอ เป็นที่มาของการออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางฯ ซึ่งโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางฯ ครั้งนี้ ได้เลือกมาจัดที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล สังกัดกรมแพทย์ทหารบก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย และเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สาม ของกองทัพบกรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลค่ายสุรนารี และเป็นโรงพยาบาลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๑ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในระยะแรกได้เปิดดำเนินการ ๒๐๐ เตียง ต่อมา ได้มีการพัฒนาและขยายอาคารสถานที่ และเพิ่มศักยภาพมาโดยตลอด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล , งานเวชกรรมป้องกัน และงานส่งเสริมสุขภาพแก่ ทหาร ครอบครัว ตลอดจนถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลหลักในการจัดโครงการครั้งนี้

โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ศาสตราจารย์คลินิก นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒ โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเกินกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คนถึง 6,506 คน โดยจะมีประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาทั้งสิ้น 16,506 ราย ซึ่งโครงการฯ ดำเนินงานสำเร็จลุล่วง สมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ และถือได้ว่าเป็นการมอบโอกาสในการรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย

โครงการจิตอาสา “คาราวานตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ฟรี”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ , รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ,นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์, นายแพทย์เพชรพงษ์ กำจรกิจการ (ปธพ.1) รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ร่วมงานแถลงข่าวการให้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุน จาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดโครงการจิตอาสา “คาราวานตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ฟรี” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าร่วมตรวจสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพ ณ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล จำนวน 7 แห่ง ทั้งนี้มีผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 (ปธพ.2) ร่วมเปิดคลินิก ได้แก่ คลินิกตรวจมวลกระดูก, คลินิกตรวจสายตา, คลินิกตรวจองค์ประกอบร่างกาย Inbody, คลินิกบำบัดอาการปวดออฟฟิศซินโดรมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, สแกนใบหน้าเช็คสุขภาพ และคลินิกเพิ่มเติม ได้แก่ คลินิก Portable Chest x-ray ในวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567 ณ บางนาฮอลล์ เซ็นทรัลบางนา

โครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 07:30 - 14:30 น. ณ True Digital Park (West) สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยมูลนิธิธรรมาภิบาล ทางการแพทย์ ร่วมกับ สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่

โดยมี นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และพลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และทีมงานของคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 10 (ปธพ. 10) เข้าร่วมออกหน่วยในคลินิกกระดูกและข้อ และคลินิกหู คอ จมูก ทั้งนี้ เปิดคลินิกให้บริการจำนวน 11 คลินิก มีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 1,197 ราย

วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 13:00 น. มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ จัดการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โดยมี ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิฯ พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM โดยมีวาระเพื่อทราบและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

  1. เรื่องโครงการอุปสมบทพระภิกษุและชีพราหมณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 4 ถึง 13 พฤศจิกายน 2567 ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย
  2. เรื่องการเตรียมการจัดโครงการดูแลสุขภาพแพทย์ “ชวนหมอวิ่ง วิ่งกับหมอ” (Dr.Run) ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ และออกกำลังกาย
  3. เรื่องความร่วมมือในการจัดโครงการแพทย์อาสา ร่วมกับ สังกัดกรุงเทพมหานคร ในวาระเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
  4. เรื่องโครงการหน่วยแพทย์อาสาถวายการตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ในวันที่ 15 กันยายน 2567 ณ ตึก 100 ปี โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์